
ตำบลสะกอม อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เป็นชุมชนหนึ่งที่มีวัฒนธรรมเป็นเอกลักษณ์แตกต่างจากชุมชนอื่นในอำเภอจะนะอย่างเห็นได้ชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของภาษา จากประวัติความเป็นมาของชาวสะกอมที่ เฉลิม มากนวล
(2526 : 17 - 19) ได้รวบรวมไว้มี 2 กระแสด้วยกัน
กระแสหนึ่งกล่าวว่า ชาวสะกอมเป็นชนกลุ่มหนึ่งที่อพยพมาจากอำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี เพื่อหนีอหิวาตกโรคมาตั้งถิ่นฐานใหม่ที่บางพังกา ตำบลสะกอม อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ต่อมาเกิดภาวะฝนแล้งจนพรุกระจูดแห้ง ผู้นำจังได้ออกสำรวจสถานที่มาเรื่อย ๆ จนพบคลองที่ไหลออกมาจากอำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา ออกสู่อ่าวไทยที่บ้านปากบางสะกอม ซึ่งเหมาะสำหรับตั้งถิ่นฐานและทำมาหากิน โดยเฉพาะการทำประมง จากนั้นจึงได้ชักชวนชาวบ้านตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บริเวณดังกล่าว ซึ่งเดิมเรียกกันว่าบ้าน " สะฆอร์ " เป็นภาษามลายูถิ่น หมายถึงต้นไม้ชนิดหนึ่งใบเล็ก ๆ ผลสีแดง ซึ่งเป็นต้นไม้ที่พบในตำบล ขณะเข้ามาตั้งถิ่นฐานครั้งแรก ต่อมาคำว่า สะฆอร์ ได้เพี้ยนเสียงเป็นสะกอม จนปัจจุบัน
อีกกระแสหนึ่งสันนิษฐานว่า บ้านสะกอมมีประวัติความเป็นมาไม่ต่ำกว่า 200 ปี โดยในสมัยที่กรุงศรีอยุธยาแตกเมื่อปี 2310 ชาวบ้านที่นับถือศาสนาอิสลามส่วนหนึ่งได้อพยพจากกรุงศรีอยุธยาหนีพม่ามาตั้งถิ่นฐานที่บ้านสะกอม และอีกส่วนหนึ่ง ไปตั้งถิ่นฐานที่อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ชาวบ้านทั้งสองพื้นที่นี้มีภาษาที่คล้ายคลึงกันมาก สำหรับชาวจีนที่เข้ามาทีหลังในลักษณะพ่อค้าสำเภา ล่องเรือผ่านบ้านสะกอม เห็นทำเลที่ปากน้ำสะกอมเหมาะสำหรับการติดต่อค้าขาย จึงได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานกลางหมู่บ้าน ซึ่งเรียกกันว่าบ้านจีน มาจนถึงปัจจุบันกล่าวว่า คนจีนที่เข้ามาอาศัยที่บ้านสะกอมเป็นจีนชุดเดียวกับคนจีนที่ตั้งถิ่นฐานที่ถนนครนอกและนครใน อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา หลักฐานที่พอจะสนับสนุน ได้แก่ศาลเจ้าปุนเถ้าก๋ง ที่บ้านจีนซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกับศาลเจ้าปุนเถ้าก๋งที่หลักเมืองสงขลานอกจากนี้ชาวบ้านจีนที่ตำบลสะกอมกับชาวจีนที่ถนนครนอกและนครในมีความสัมพันธ์และไปมาหาสู่กันเสมอ อาชีพหลักของชาวสะกอมในสมัยนั้น กลุ่มชาวไทยมุสลิมมักจะทำประมลชายฝั่ง ส่วนกลุ่มชาวจีนจะค้าขายทางทะเล สำหรับสินค้า ชาวบ้านสะกอมในสมัยนั้น สินค้าหลักที่นำไปขาย ได้แก่ ปลาเค็ม น้ำปลากะปิ ปลาร้า ซึ่งรับซื้อจากกลุ่มชาวไทยมุสลิมในตำบลสะกอมนั่นเอง นอกจากนี้ยังมีเกลือ เสื่อกระจูด กระสอบกระจูด ฯลฯ สินค้าเหล่านี้จะบรรทุกเรือสำเภา หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า เรือใบ ตามเมืองท่าต่าง ๆ เช่นกรุงเทพมหานคร ปีนัง ตรัง กานู เปอร์ลิส ประเทศมาเลเซีย สิงค์โปร์ และจีน โดยออกไปเที่ยวหนึ่ง ๆ ประมาณ 7 วัน 1 เดือน ขากลับจะบรรทุกสินค้าคู่ค้ากลับมาขายที่ตำบลสะกอม และบริเวณใกล้เคียง สินค้าที่นำมาส่วนใหญ่เป็น ผ้า บุหรี่ น้ำหอม ทองคำ อาหารกระป๋อง อาหารแห้ง และอุปกรณ์ เครื่องใช้ภายในบ้าน